วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การตอบข้อสอบกฎหมาย

การตอบข้อสอบกฎหมาย

เทคนิคการตอบข้อสอบ ( Technical Method for Answer the Question : TMAQ ) เป็นการตอบข้อสอบที่แสดงให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพในการตอบ เมื่อได้มีการเตรียมตัวอ่านหนังสือมาเป็นอย่างดีแล้ว การเขียนคำตอบที่ดีจะทำให้คะแนนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ทีนี้ การเขียนคำตอบอย่างไรเล่า จึงจะถือว่าดีและเหมาะสม จากประสบการณ์ของผู้เขียนนั้น คำตอบที่ดีคือ "การตอบคำถามที่ทิ่มแทงใจผู้ออกข้อสอบ" เพราะผู้ออกข้อสอบ มักจะลวงคำถามมา เพื่อให้ผู้ตอบเดินไปตามทางที่ลวงดังกล่าว อย่างไรก็ดี ถ้าผู้ตอบทราบเจตนาอันซ่อนเร้นของผู้ถาม จะได้เปรียบคู่ต่อสู้หรือคู่แข่งขันเป็นอย่างมาก เพราะการตอบข้อสอบที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ตอบรู้กลลวง (trick) ของผู้ออกข้อสอบนั้น ผู้ออกข้อสอบจะรู้สึกยินดีและพอใจมากว่า ผู้ตอบ นอกจากมีความรู้ในสิ่งที่ถามแล้ว ยังมีความเฉลียวฉลาดในการแยกแยะกลลวงต่าง ๆ ออกมาได้

คำถามต่อมาก็คือ ข้อสอบที่ออกยากหรือง่าย อย่างไหนจะมีผลเป็นเช่นไร ตามความเห็นของผู้เขียนแล้ว ข้อสอบที่ออกยาก จะมีประโยชน์มากสำหรับผู้ตอบที่เตรียมตัวมาดี และมีความคิดอ่าน รู้จักวิเคราะห์ ใช้เหตุผล ซึ่งลำพังการอ่านหนังสือมากเพียงพอ ยังไม่อาจตอบข้อสอบให้ได้คะแนนมาก ทั้งนี้ดูประหนึ่งว่า ข้อสอบออกไม่ตรงกับที่สอนหรือที่เรียน ตรงจุดนี้ขอยืนยันได้ว่า ไม่มีข้อสอบใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิชาที่นักเรียนได้เรียนมาแล้ว สาเหตุที่รู้สึกว่ามันแปลกหรือยาก ก็เพราะผู้ตอบยังไม่รู้จักการประยุกต์ใช้ (applied) และการนำความรู้ที่ร่ำเรียนมาเป็นความรู้พื้นฐานใน
ในการคิดตอบข้อสอบ (อาจารย์มักสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ตอบเคยเรียนวิชาอื่น ๆ มาก่อน จึงต้องมีความรู้พอที่จะตอบข้อสอบที่รวมหลายวิชาได้) ข้อสอบประเภทนี้เป็นการทดสอบทั้งความรู้และความคิดในการปรับความรู้ให้นำมาใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงได้

ในทางตรงกันข้าม ข้อสอบที่ออกง่ายนั้น นักเรียนจะมีความรู้สึกที่ดีว่า เราทำได้และหวังคะแนนไว้สูง ถ้าหากคิดเช่นนั้นแล้ว ขอตอบได้ทันทีว่า เป็นความคิดที่ผิด หมายถึง ผิดไปจากที่คิด โปรดอย่าลืมว่า ข้อสอบที่ออกไม่ยาก เราทำได้ดี ซึ่งคนอื่นที่สอบเหมือนเรา เขาก็สามารถทำได้ดีเช่นเดียวกันหรืออาจดีกว่าคำตอบของเราด้วยซ้ำ จึงอย่าเพิ่งชะล่าใจว่าได้ A แน่นอน

ดังนั้น ผู้เขียนนิยมชมชอบข้อสอบที่ออกยากมากกว่า ข้อสอบง่าย กล่าวคือ ข้อสอบยาก เราทำไม่ค่อยได้ คนอื่นก็เช่นเดียวกับเรา(โดยส่วนใหญ่) แต่ถ้าเราทำได้ดี ก็มีน้อยคนที่ทำได้ดีเท่าเราหรือดีกว่าเรา โอกาสที่เราจะติดอันดับผู้นำกลุ่มย่อมมีสูง หรืออีกนัยหนึ่งคือ ข้อสอบที่ออกง่าย ใคร ๆ ก็สามารถตอบได้ เราก็จะตกเป็นรองคนที่ตอบข้อสอบได้ดีกว่า ให้เหตุผลชัดแจ้ง วิเคราะห์ดี ภาษาในการตอบเยี่ยม ซึ่งหากเราไม่มีเทคนิคเช่นนี้ โอกาสที่เราจะติดอันดับกลุ่มกลาง ๆ ย่อมมีสูง

ด้วยเหตุนี้เอง จึงต้องมีการแนะนำการเขียนตอบข้อสอบที่ดีและเหมาะสม เพื่อจะดึงคะแนนมาเป็นของเราให้มากที่สุด แม้นว่าจะต้องเผชิญกับอาจารย์ที่ให้คะแนนนักเรียนน้อย(กดคะแนน) แต่เราก็มั่นใจได้ว่า คนอื่นก็จะน้อยเหมือนเรา หรือน้อยกว่าเราเช่นกัน

ลักษณะทั่วไป

การตอบข้อสอบกฎหมายมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างไปจากการเขียนตอบธรรมดา ซึ่งลักษณะการตอบข้อสอบที่เป็นแบบอย่างควรแก่การจดจำนั้น ได้แก่ อ.หยุด แสงอุทัย รวบรวมมาด้วยกัน 12 ประการคือ
1.เขียนในลักษณะคนไม่รู้กฎหมายอ่านแล้วรู้เรื่อง
2.ใช้ข้อความชัดเจน
3.อ่านง่าย
4.จำนวนหน้าเหมาะสม
5.อ่านคำถามให้ตลอด แล้วตรองดูว่าให้ตอบอย่างไร
6.บันทึกหัวข้อย่อๆ ก่อนตอบ
7.คำตอบไม่ตรงธง
8.อย่าตอบในสิ่งที่ไม่ได้ถาม
9.เลือกตอบข้อง่ายก่อน
10.อย่าเพิ่งตอบขณะจิตใจไม่ปกติ
11.ระวังความคิดฉับพลัน
12.อย่าเขียนเรื่องส่วนตัว
ข้อ 1.-7. นั้น เป็นเรื่องปกติที่ควรต้องมีในการตอบข้อสอบอยู่แล้ว ข้อ 8.-9. เป็นคำแนะนำที่ดีสำหรับบุคคลที่เตรียมตัวสอบ หลาย ๆ คนมักทำข้อสอบเรียงตามลำดับ ข้อ1- ข้อสุดท้าย ซึ่งเป็นการทำข้อสอบที่ไม่เหมาะสมนัก เพราะว่าการเลือกทำข้อง่ายก่อน เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มกำลังใจให้กับผู้สอบเองในการที่ตอบในข้อต่อไป และให้ระวังเรื่องคะแนนในแต่ละข้อ ฉะนั้น สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณา คือ จำนวนข้อ คะแนน และเวลา
ตัวอย่างเช่น
ข้อสอบมี 2 ข้อ ข้อแรก 30 คะแนน อีกข้อ 10 คะแนน เวลา 2 ชั่วโมง วิธีการคือ
ใช้เวลาคิด 30 นาที
เวลาลงมือทำ 80 นาที แยกเป็น
ข้อแรก 55 นาที (30คะแนน)
ข้อสอง 25 นาที (10คะแนน)
ทบทวนและเผื่อเวลา 10 นาที
จำนวนหน้าในการตอบข้อสอบ
ข้อแรก อย่างน้อย 2+1/2 หน้า ที่ควร 4 หน้า
ข้อสอง อย่างน้อย 1+1/2 หน้า ที่ควร 2+1/2 หน้า
(วิธีการเขียนตอบให้ได้ตามจำนวนหน้า หรือตาม outline จะกล่าวต่อไป)
สำหรับข้อ 10.-11. เป็นเรื่องจิตใจของผู้เข้าสอบ ถ้าเราพกพาความมั่นใจมามากย่อมไม่สร้างปัญหาแต่อย่างใด จงอย่าสร้างความกดดันให้กับตนเอง พยายามกระตุ้นตัวเองให้มีความกระหายในการทำข้อสอบ มิใช่มาตอบข้อสอบด้วยอาการเหนื่อยล้าจากการโหมดูหนังสืออย่างหนัก ถ้าเป็นไปได้ควรพักผ่อนอย่างเต็มที่(นอน) ก่อนสอบอย่างน้อย 1 วันเต็ม ๆ เพื่อความสดชื่นของสภาพร่างกาย ทำจิตใจให้แจ่มใสเบิกบาน และให้คิดว่า ข้อสอบเป็นการทดสอบความสามารถของเราเท่านั้น หรือนึกว่าเป็นการทดสอบเชาวน์ของเราก็ได้ จะทำให้เราไม่มีความกดดันอะไร คนที่ทำอะไรด้วยจิตใจแจ่มใสไร้ความกดดัน มักจะทำได้ดีกว่าที่ต้องเอาจริงเอาจัง แต่มิได้หมายความว่า ไม่ต้องจริงจัง เพียงแต่ควรทำให้เต็มที่เต็มความสามารถและยอมรับผลที่ออกมาอย่างเต็มภาคภูมิ
ข้อ 12. ไม่สำคัญเท่าใดนัก ปัจจุบันนี้ ไม่มีนักเรียนคนใด เขียนเรื่องส่วนตัวกันแล้ว หากใครเขียนลงไปถือว่า เชยมาก วิธีการที่ดีและถูกต้องคือ ไปพบอาจารย์และพูดคุยกับท่าน จะต้องแก้ปัญหากันอย่างไรและต้องทำงานมากกว่าคนอื่นอย่างไร เช่นนี้เป็นทางออกที่ดี

การตอบข้อสอบที่มีประสิทธิภาพ
มาถึงจุดนี้ จะขอแนะนำวิธีการตอบข้อสอบที่ดีและเหมาะสม ซึ่งผู้เขียนรับรองได้ว่าผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจ และเพื่อความเข้าใจให้เป็นไปอย่างมีระบบ จึงขอสรุปเป็นแผนภาพ ดังนี้


อ่านโจทย์

จับประเด็น

วิเคราะห์

ขยายความคิดเห็น -->วาง outline -->สร้างความสัมพันธ์ระหว่าง คำตอบกับเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอ

technical term

สรุป --------------> สอดคล้องกับความสัมพันธ์

โดยเริ่มจาก อ่านโจทย์ หลายคนอาจสงสัยว่า การอ่านโจทย์ต้องใช้เทคนิคด้วยหรือ? คำตอบคือ ใช้ดีกว่าไม่ใช้ เกือบทุกคนนิยมอ่านโจทย์จนจบก่อน แล้วจึงจะลงมือคิดอ่านว่าจะตอบอย่างไร แต่วิธีการของผู้เขียนนั้น อ่านโจทย์ไปทีละประโยคแล้วหยุดคิด (ใช้วิธีการที่เคยกล่าวไว้ในเรื่องการอ่านระหว่างบรรทัด) หมายถึง โจทย์จะบอกข้อมูลมาซึ่งเราสามารถขยายความจากข้อกำหนดโจทย์ได้ และให้พยายามขยายความออกไปให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ภายในขอบเขตของเรื่องที่ต้องทดสอบ (เทคนิคนี้ ผู้เขียนนำมาจากอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งสอนวิชาคณิตศาสตร์ได้ยอดเยื่ยมมาก) บ่อยครั้ง คำถามที่อาจารย์ต้องการหรือคำตอบที่ต้องการจะตอบ มักอยู่ที่ประโยคแรกนี้เอง เมื่ออ่านโจทย์จบทั้งหมด เราก็สามารถตอบคำถามได้หมดไปแล้ว จากการที่ได้ตีความหรือขยายความประโยคแรก ๆ ของโจทย์ วิธีการเช่นนี้มีประโยชน์คือ ทำให้เราไม่หลงประเด็นและได้คำตอบที่นักกฎหมายเรียกว่า "ฟันธง"
เคยมีนักกฎหมายท่านหนึ่ง กล่าวเรื่องคณิตศาสตร์กับกฎหมายไว้ว่า "การใช้หลักกฎหมายโดยยกกฎหมายขึ้นปรับกับข้อเท็จจริงนี้ ย่อมเหมือนกับ การใช้สูตรในการตอบคณิตศาสตร์ โดยถือว่าหลักกฎหมายเป็นสูตรอย่างหนึ่ง แต่เป็นสูตรที่มีความกว้างขวางกว่าสูตรของคณิตศาสตร์ซึ่งมักเป็นหลักตายตัว การใช้สูตรผิด ย่อมจะได้คำตอบที่ผิดด้วย ลักษณะการใช้กฎหมายในหลักนี้ จึงไม่แตกต่างกับการรู้จักใช้สูตรของหลักคณิตศาสตร์แต่อย่างใด"

ตัวอย่าง
A เห็น B ขับรถยนต์ผ่านมา มี C ซึ่งเป็นบิดาของ A เองนั่งอยู่ด้านหลังรถยนต์ A เป็นคนแม่นปืน เชื่อว่าจะยิงไปที่ B ก็จะไม่ถูก C A เจตนาจะฆ่า B จึงยิงไป แต่กระสุนไปถูก C ตาย ดังนี้ A จะผิดฐานใด ?

วิธีการคือ อ่านโจทย์ประโยคแรก แต่ก่อนอื่นเราต้องทราบว่าเราทำคำถามวิชาใดอยู่ ตัวอย่างนี้คือ กฎหมายอาญา ประโยคแรกพูดถึง C ซึ่งเป็นบิดาของ A เพียงเท่านี้ เราก็ต้องขยายความนึกไปถึง เรื่องความสัมพันธ์ของบุคคล ที่เกี่ยวข้องกับความผิด ข้อสอบอาจถามเรื่องความสัมพันธ์อันนี้ หรือต้องการให้ตอบโดยให้พูดถึงความสัมพันธ์ของบุคคลก็ได้ พออ่านประโยคต่อมา A เป็นคนแม่นปืน แค่นี้เราก็พอทราบได้ว่า อาจต้องมีการฆ่ากันซึ่งเป็นได้ทั้งความผิดสำเร็จหรือพยายามฆ่า และเมื่อรวมกับประโยคแรก การฆ่าอาจเกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ของบุคคลอีกด้วย เมื่ออ่านต่อไป เชื่อว่ายิง B จะไม่ถูก c แสดงว่า ที่เราคิดว่าจะมีการฆ่านั้น จริง และที่กล่าว เชื่อว่าจะยิงไม่ถูก C ทำให้นึกไปอีกได้ว่า อาจยิงพลาดได้ ซึ่งอาจพลาดไปถูก C แล้วโยงไปถึงความสัมพันธ์ของบุคคลได้ พออ่านคำถามจบ เราก็ทราบแล้วว่าโจทย์ถามอะไร ต้องการให้ตอบอะไร ประเด็นที่ควรต้องตอบมีอะไรบ้าง
จากตัวอย่างนี้ ประเด็นที่ต้องพูดถึงก็มี เจตนาฆ่าหรือพยายามฆ่า การกระทำโดยพลาด ความสัมพันธ์ของบุคคล เป็นต้น จึงเห็นได้ว่า การอ่านโจทย์แล้วคิดก่อน จึงค่อยอ่านต่อ จะช่วยให้เราเข้าใจคำถามได้ดี และรู้จักแยกแยะประเด็นที่ควรตอบ
เมื่ออ่านโจทย์ทีละประโยคแล้ว ไม่มีอะไรขยายความออกไปได้ สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือ จับประเด็น(issue) คือ ผูกเรื่องรวม ๆ กันแล้วพิจารณาว่า โจทย์ต้องการให้ตอบหรือไม่ และแม้นว่ามิใช่คำตอบสุดท้าย แต่ก็เป็นจุดที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสรุปคำตอบ เราต้องตีโจทย์ให้ออกว่า ข้อมูลอันไหนเป็นประเด็นที่ต้องตอบเพื่อประกอบให้คำตอบสมบูรณ์ที่สุด อาจารย์หลายท่านมักจะวางประเด็นเอาไว้และมีคะแนนสำหรับประเด็นเหล่านั้น นักเรียนส่วนมากมักเข้าใจว่า ตอบถูกธงและมีเหตุผล หลักกฎหมายถูกต้อง คะแนนน่าจะออกมาดี แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ประเด็นมีส่วนสำคัญต่อคะแนน เท่าที่ผู้เขียนมีประสบการณ์ขอบอกได้ว่า อาจารย์ได้วางวิธีการไว้ดังนี้
สมมติว่า ข้อสอบ 1 ข้อ 30 คะแนน
ธงคำตอบที่ถูกต้อง 5 คะแนน
เหตุผลและวิเคราะห์คำตอบ 10 คะแนน
ประเด็นที่ต้องอธิบาย 3 ประเด็น ๆ ละ 5 คะแนน
รวมทั้งหมด 5+10+15 = 30 คะแนน
จึงเห็นได้ว่า หากตอบถูกธง เหตุผลถูกต้อง แต่มิได้กล่าวถึงประเด็นที่อาจารย์วางเอาไว้ คะแนนอย่างมากที่สุดเท่ากับ 5+10= 15 คะแนน ดังนี้ คะแนนไม่มีทางเป็น A ได้ แล้วหันมาสงสัยอาจารย์ว่า ตรวจข้อสอบผิดพลาด เปล่าเลย นักเรียนไม่เข้าใจในวิธีการของอาจารย์ต่างหาก (เรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็น หากเป็นไปได้ ควรถามผู้สอนก่อนว่า ต้องการให้ตอบแบบใด เพราะอาจารย์แต่ละท่าน วางหลักเกณฑ์ของตนแตกต่างกันออกไป) การตอบตามประเด็น ขอให้พูดถึงหรือพาดพิงถึงซึ่งพัวพันกับคำตอบ แค่นี้ก็พอที่จะให้คะแนนได้แล้ว แต่วิธีที่ดีนั้น ต้องกล่าวถึงประเด็นแล้วเป็นเหตุหรือเป็นผลของการนำไปหาคำตอบ (นั่นคือ เป็นองค์ประกอบของคำตอบที่นักเรียนตอบมา)

ตัวอย่าง
จากตัวอย่างในเรื่องการอ่านโจทย์ มีประเด็นที่ต้องกล่าวคือ การฆ่าโดยเจตนาหรือพยายาม การกระทำโดยพลาด ความสัมพันธ์ของบุคคล เป็นต้น
พอจับประเด็นต่าง ๆ ได้แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือ วิเคราะห์(analysis) โดยถือหลักว่า เสียเวลาคิดนานดีกว่าลงมือทำไปแล้วคิดออก แต่ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร ไม่รู้ว่าจะอธิบายหรือแสดงออกให้ชัดแจ้งอย่างไร ซึ่งเป็นผลเสียมากกว่าผลดี การวิเคราะห์ก็เช่นเดียวกับการใช้วิจารณญาณนั่นเอง เวลาตอบข้อสอบ ผู้เขียนมักใช้เวลาคิดอยู่นาน เช่น ข้อสอบ 4 ข้อ เวลา 2 ชั่วโมง ผู้เขียนจะใช้เวลาในการคิดตอบ 1/2 ชั่วโมง(ทั้งหมด 4 ข้อ) แล้วจึงค่อยลงมือทำเฉลี่ยข้อละประมาณ 20 นาที เหลือเวลาอีก 10 นาที ไว้ตรวจทานหรือเผื่อข้อที่ต้องตอบยาว ในชั้นเรียนปริญญาโท ผู้เขียนเคยใช้เวลานั่งคิดอย่างเดียว 1 ชั่วโมง ในเวลาสอบ 3 ชั่วโมง เมื่อวาง outline ได้แล้ว การเขียนตอบก็ราบรื่น เป็นไปตามความคิดที่เราต้องการตอบ และจะมีการเรียงลำดับความสำคัญก่อน-หลัง อย่างเป็นระบบ(systematic) ทำให้ผู้อื่นเกิดความเชื่อถือว่า ผู้ตอบมีความสามารถเช่นนั้นจริง
การคิดคำตอบไว้ก่อนลงมือทำนั้น ผู้ตอบบางคนไม่เคยทำมาก่อน อาจเกิดความตระหนกตกใจในเรื่องเวลาที่สูญเสียไปเปล่า ๆ ขอย้ำว่า การคิดคำตอบก่อนลงมือทำ เท่ากับว่า เราได้ตอบข้อสอบไปแล้ว 50% ที่เหลือคือการเขียนตอบและการใช้สำนวนหรือภาษาที่สละสลวย ดูดี ที่จะเพิ่มคะแนนให้กับเรา ถ้าผู้ตอบเป็นคนที่เขียนหนังสือช้า ทางแก้มี 2 ทางคือ หัดเขียนหนังสือให้ไวขึ้น ชนิดอ่านออกและเขียนได้รวดเร็ว ไม่จำต้องเขียนสวย อาจารย์ไม่มีคะแนนคัดลายมือ หรือใช้การเขียนตาม outline (จะได้กล่าวในหัวข้อต่อไป) พอจะอธิบายได้คร่าว ๆ แต่จำต้องเขียนให้ครอบคลุมทั้งหมด อาจารย์จะทราบดีว่า ผู้ตอบมีความรู้และความเข้าใจ เพียงแต่เวลาไม่เอื้ออำนวย ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้เขียนแนะนำให้ผู้ตอบหัดเขียนหนังสือไวๆ และเขียนให้ได้ตาม outline
หลังจากที่ได้ทำการวิเคราะห์แล้วว่าจะต้องทำสิ่งใดบ้าง ขั้นตอนที่สำคัญคือ การวาง outline หมายถึง การแยกแยะห้วข้อที่ต้องการตอบออกมาให้เห็นเด่นชัด ซึ่งผู้เขียนขอแยกเป็น 2 หัวข้อ ดังนี้
1.การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคำตอบ กับเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอ
2.การขยายความคิดเห็นของผู้ตอบ
หัวข้อ 1. อาจสร้างความงุนงงว่า มันคืออะไร? ผู้เขียนขอตอบว่า มันเป็นสิ่งที่ผู้เขียนคิดขึ้นมาเอง ซึ่งหมายถึง เมื่อเราได้คำตอบที่ต้องการตอบแล้ว เราจะวางโครงสร้างหรือวางหลักเกณฑ์อย่างไรให้เป็นระบบ ระเบียบ (อาจารย์หลายท่าน ชอบให้นักเรียนตอบอย่างมีระบบ) อาจารย์ชอบให้เกริ่นนำเรื่อง ยิ่งเป็นข้อสอบบรรยายแล้ว ต้องตอบแบบเชิงประวัติศาสตร์ เรียงลำดับความเป็นมา กว่าจะมาถึงคำตอบก็เกือบสุดท้ายนั่น โยงใยเรื่องราวแล้วนำมาพัวพันในคำตอบที่เราต้องการ และหากว่าเป็นวิชา open book แล้ว การตอบอย่างมีระบบเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะอาจารย์ให้โอกาสในการเตรียมตัว พร้อมทั้งมีตำรา หนังสือไว้เพียบพร้อม จึงต้องตอบให้ได้ดีกว่า close book ผู้เขียนนิยมชมชอบการสอบแบบ open book มากเพราะเหตุว่า มีลักษณะเข้าสไตล์ที่ผู้เขียนกำลังแนะนำอยู่นี้คือ วางเค้าโครงในการตอบไว้และให้ครอบคลุมเนื้อหาที่ต้องการตอบทั้งหมด พร้อมทั้งแสดงให้เห็นว่าคำตอบที่ได้มา มีความเป็นมาอย่างไร กว่าจะได้มาซึ่งคำตอบและเหตุผลที่ถูกต้องชัดเจน เราต้องรู้ว่าจะขึ้นเรื่องอย่างไร แล้วนำข้อเท็จจริงจากโจทย์มาเปรียบเทียบในช่วงไหน ประเด็นที่จะพูดถึงเอามาวางไว้ต่อจากเรื่องใด แล้วหลักเกณฑ์ของกฎหมายควรจะแทรกเข้ามาในตอนใด เหตุผลที่หนักแน่นและองค์ประกอบที่สำคัญในการตอบควรอยู่ตรงไหน
ดังนั้น หากเราเรียงลำดับความสำคัญก่อน-หลัง และได้วางแผนการตอบอย่างมีระบบ ระเบียบ ยกหลักเกณฑ์กฎมายพร้อมเหตุผลอ้างอิง เช่นนี้ คะแนนจะอยู่ในช่วงเต็มหรือเกือบเต็ม
นอกจากนี้ หัวข้อ 2. โจทย์บางข้อยังเปิดโอกาสหรือบังคับให้นักเรียนตอบตามความคิดเห็นของตนเอง หรือให้แสดงความคิดเห็น วิจารณ์ สิ่งที่โจทย์ได้ถามมา การแสดงความคิดเห็นนั้นจะตอบโดยไม่มีหลักเกณฑ์อันใดมิได้เด็ดขาดเพราะจะเป็นสิ่งที่ถูกโต้แย้งได้มาก ด้วยเหตุนี้ การตอบแบบถามความคิดเห็น จำต้องยกหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวออกมาซึ่งเป็นการแสดงออกถึงข้อเท็จจริง(facts) เพียงยกมาพูดถึงเท่ากับว่า ได้คะแนนมาเป็นจำนวนพอสมควรแล้ว เพราะอาจารย์จะพิจารณาว่า นักเรียนมีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องดังกล่าว แต่เราต้องแสดงให้อาจารย์เห็นว่า หลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวมีอยู่อย่างไร เรามองเรื่องนี้ด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปเช่นไร เราควรอธิบายได้ทั้งในด้านที่เป็นข้อดีและข้อเสีย ออกมา โดยที่ไม่จำเป็นต้องสรุปว่า เห็นด้วยหรือไม่ ดีหรือไม่ การแสดงออกถึงข้อดี-ข้อเสียนั้น เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นแล้วว่า เราเข้าใจหลักเกณฑ์ดังกล่าวและมองเห็นสภาพปัญหาของสิ่งที่โจทย์ถามมา

จะขอเว้นตัวอย่างไว้ แล้วชี้ให้เห็นในตัวอย่างจริง

ปัญหาที่สำคัญของนักเรียนก็คือ การใช้ Technical term คือ การใช้สำนวนโวหาร หรือภาษาที่สละสลวย หรือการใช้คำที่มีความหมายถูกต้องชัดเจน อาจารย์มักให้คะแนนมากกว่าสำหรับ ผู้ที่ตอบปัญหาได้ถูกต้องเหมือน ๆ กันแต่แตกต่างกันตรงที่ การใช้ศัพท์เทคนิคที่แสดงให้เห็นถึงความรู้ของผู้ตอบ การใช้ภาษาที่ดี ผู้อ่านอ่านแล้วเข้าใจได้ การใช้คำเชื่อมต่าง ๆ การเว้นวรรค การขึ้นย่อหน้าใหม่ จำนวนหน้าในการตอบข้อสอบที่เหมาะสมกับคะแนนและเวลา
วิธีการที่จะหัดการใช้ภาษา หรือเขียนให้ได้ดีนั้น ผู้เขียนเห็นว่าสามารถฝึกฝนได้เช่นกัน เช่น การอ่าน reading ต่าง ๆให้มากๆ จดจำว่าใช้ศัพท์เทคนิคกันอย่างไร คำเชื่อมต่าง ๆ เช่น อย่างไรก็ดี ดังนั้น แม้นว่า หรือเพราะเหตุว่า เป็นต้น ลำพังตัวมันเองนั้นมิได้ทำให้คะแนนเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ต่อเมื่อรวมเป็นคำตอบแล้วมองในภาพรวม จะช่วยให้ผู้อ่านคำตอบอ่านด้วยความราบรื่น ดูดี ชัดเจน สมกับเป็นคำตอบที่ดีที่ควรให้คะแนนเต็มหรือเกือบเต็ม เราต้องรู้จักการขัดเกลาภาษา ภาษาพูดกับภาษาเขียนนั้นต่างกันแม้นว่าจะสื่อความหมายอย่างเดียวกันก็ตาม การรู้จักใช้ภาษาที่ดีเป็นการแสดงออกถึงความมีการศึกษาของผู้ตอบที่แตกต่างจากชาวบ้านธรรมดาๆ เราต้องแสดงออกถึงความแตกต่างระหว่างคนมีการศึกษากับชาวบ้านธรรมดา การหัดเขียน diary บ่อยๆ จะช่วยเราได้มากเพราะว่าเป็นการเขียนเรื่องที่เรารู้ดีที่สุด ไม่มีใครเขียนได้ดีกว่าเรา อันเป็นการแสดงออกถึงความคิดที่เราต้องการเขียนลงไปหรือตอบข้อสอบนั่นเอง แล้วค่อยๆ พัฒนาภาษาเขียนให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีประโยชน์อันใดหากมีความรู้ แต่ไม่สามารถแสดงออกให้ผู้อื่นเข้าใจได้ จริงไหม?
ตัวอย่างของการใช้ศัพท์เทคนิคนี้ ผู้เขียนได้แทรกเอาไว้ตามคำอธิบายข้างต้นแล้ว
และสิ่งสุดท้ายที่จะขาดไม่ได้คือ การสรุปคำตอบ(conclusion) บางครั้งเราอาจต้องตอบข้อสอบที่ยาวมาก และสลับซับซ้อนจนผู้อ่านเกิดความสับสนว่า แล้วสิ่งที่ถามนั้น นักเรียนตอบว่าอย่างไร การตอบข้อสอบโดยทำตามขั้นตอนดังกล่าวมาจนครบถ้วน แล้วจบเรื่องทันทีนั้น เฉกเช่นว่า ตายตอนจบนั่นแหล่ะ เราต้องสรุปคำตอบที่โจทย์ถามพร้อมเหตุผลที่เราตอบในลักษณะสั้นๆ ให้ผู้อ่านทราบว่า ตอนจบของเรื่องเป็นอย่างไร อันจะส่งผลให้คำตอบของเราสมบูรณ์ที่สุด

วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2552

Hire and Sale

เรื่อง เช่า กับ ซื้อขาย

การเช่า ( Hire )
มีคนอยู่ 2 พวก คือ ผู้เช่า และผู้ให้เช่า ซึ่งมีสิทธิต่างกันคือ ผู้เช่าได้ใช้ทรัพย์สินที่เช่าโดยจ่ายค่าเช่า แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของ หมดเวลาเช่าก็ต้องส่งคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้ให้เช่าต่อไป ผู้ให้เช่า(เป็นเจ้าของหรือไม่เป็นก็ได้) เอาทรัพย์สินให้เช่า ได้ค่าตอบแทนและต้องดูแลทรัพย์สินอยู่ ถ้าทรัพย์สินเป็นอะไรไปโดยผู้เช่าไม่ผิด ผู้ให้เช่าก็ต้องรับไปเอง

การซื้อขาย ( Sale )
มีคนอยู่ 2 พวก คือ คนซื้อ และคนขาย ซึ่งมีสิทธิต่างกันคือ คนซื้อจ่ายค่าตอบแทนและได้ทรัพย์สินมา เป็นเจ้าของแทนเลย คนขายต้องยกความเป็นเจ้าของให้กับคนซื้อโดยรับค่าตอบแทน ต่อไปทรัพย์สินเป็นอะไร คนซื้อต้องรับผิดชอบคนเดียว

ดังนั้น การเช่า และการซื้อขาย แตกต่างกันเรื่องของความเป็นเจ้าของ และยังมีหน้าที่อื่น ๆ ด้วย แต่รายละเอียดมีมาก ต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป

สนใจสอบถาม เรื่องเช่า และหรือซื้อขาย ติดต่อ 08-3778-1696 (ไม่คิดค่าบริการ ถ้าสอบถามอย่างเดียว) หรือ ส่งคำถามมายัง cptoon@gmail.com ยินดีตอบคำถามให้ฟรีเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายให้กับบุคคล